โรคเบาหวานกับการตั้งครรภ์
เบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำสารคาร์โบไฮเดรต(แป้งและน้ำตาล)มาใช้ได้ตามปกติ ส่วนใหญ่เป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร สาเหตุหนึ่งเกิดจากตับอ่อนสร้างฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือสร้างได้เพียงพอแต่มีสารอื่นมาต่อต้านการทำงานของอินซูลิน หรือมีสารมาทำลายอินซูลินมากขึ้น
เบาหวานที่พบในระหว่างตั้งครรภ์แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1. วินิจฉัยพบเบาหวานครั้งแรกระหว่างตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus)
2. วินิจฉัยพบเบาหวานครั้งแรกก่อนตั้งครรภ์
พบว่าประมาณ 90% ของโรคเบาหวานในสตรีตั้งครรภ์เป็นชนิดแรก การวินิจฉัยว่าสตรีผู้ตั้งครรภ์เป็นเบาหวานหรือไม่ มีความยุ่งยากพอสมควรเนื่องจากต้องเจาะเลือดถึง 4 ครั้งในวันเดียวกัน ก่อนเจาะเลือดจะต้องงดอาหารก่อนเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ถึงจะเจาะเลือดครั้งแรก หลังจากเจาะเลือดในครั้งแรกแล้วให้รับประทานกลูโคส 100 กรัมแล้ววัดระดับกลูโคสในเลือดที่ 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง และ 3 ชั่วโมงตามลำดับ หากพบว่าสตรีที่ตั้งครรภ์เป็นเบาหวานแล้ว การดูแลระหว่างตั้งครรภ์จะต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างสูติแพทย์ อายุรแพทย์ กุมารแพทย์ และตัวสตรีที่ตั้งครรภ์เอง เพื่อป้องกันหรือลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับแม่และบุตรในครรภ์
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานในสตรีตั้งครรภ์
1. มีประวัติบุคคลในครอบครัวสายตรงเป็นโรคเบาหวาน
2. ภาวะอ้วน(ดัชนี้มวลกายมากกว่า 27)
3. โรคความโลหิตสูง
4. มีอายุมากกว่า 30 ปี
5. มีประวัติเคยตรวจพบโรคเบาหวานก่อนตั้งครรภ์ในครรภ์ก่อนหน้า
6. มีประวัติเคยคลอดบุตรที่มีน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัม
7. ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะติดต่อกัน 2 ครั้งในระหว่างที่มาตรวจครรภ์
8. มีประวัติตั้งครรภ์ก่อนและคลอดบุตรพิการหรือตายคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ
โรคเบาหวานส่งผลต่อการตั้งครรภ์ดังนี้
1. มีโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษได้มากกว่าสตรีที่ไม่เป็นโรคเบาหวาน
2. มีโอกาสแท้งบุตรได้มากกว่า
3. มีโอกาสติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะมากกว่า
4. มีโอกาสที่เด็กจะพิการแต่กำเนิดสูงกว่า
5. พบภาวะน้ำคร่ำมากกว่าปกติ
6. บุตรอาจตัวใหญ่และมีน้ำหนักมากกว่าปกติ
7. อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในทารกแรกเกิด
8. บุตรอาจเสียชีวิตในครรภ์
9. เพิ่มความเสี่ยงของภาวะหายใจล้มเหลวและทารกตายหลังคลอด
การดูแลรักษา
1. ก่อนตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งความพิการของทารกแปรผันตามระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ควรตรวจวัดระดับฮ๊โมโกลบินเอวันซีน้อยกว่า 7%
2. ควบคุมอาหารให้ถูกส่วนถูกเวลา หลีกเลี่ยงกาแฟ อาหารมัน และอาหารที่มีรสจัด
3. ออกกำลังอย่างเหมาะสม
4. ยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน ห้ามใช้ชนิดรับประทาน เนื่องจากปรับขนาดยาลำบาก และยาบางชนิดอาจผ่านทางรกเข้าสู่เด็กได้ ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในทารกแรกเกิด
5. ควรตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ 2 ครั้งต่อสัปดาห์
6. มีการตรวจสุขภาพแม่ และวัดระดับน้ำตาลในเลือด 6 สัปดาห์หลังคลอด
7. วิธีคุมกำเนิดให้หลีกเลี่ยงยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง ให้ใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนแทน (Progestin, Norplant) และห้ามใช้ห่วงคุมกำเนิดเนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
8. ปรึกษาสูติแพทย์ถึงเพื่อพิจารณาวิธีการคลอดที่เหมาะสม